สถิติ
เปิดเมื่อ22/01/2015
อัพเดท26/01/2015
ผู้เข้าชม18360
แสดงหน้า20941
ปฎิทิน
April 2024
Sun Mon Tue Wed Thu Fri Sat
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
    




บทความ

ประวัติหลวงพ่อองค์ดำ


ประวัติหลวงพ่อองค์ดำ

 
          เริ่มแรกนั้นในรัชกาลที่ 1 กวาดต้อนประชาชนชาวผู้ไทมาจากลาว ประเทศลาวมีบ่อคำแดงมากบริเวณสะหวันนะเขต มีคณะที่อพยพมาจากประเทศลาวไปอยู่ที่เมืองภูแล่นช้าง ซึ่งปัจจุบันคือตำบลนาขาม อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ และหนึ่งในคณะอพยพมีญาคูกิวซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ ได้นำทองแดงและทองคำที่ได้มาจากประเทศลาวเพื่อประกอบพิธีหล่อองค์พระพุทธรูปเมื่อ พ.ศ. 2353 โดยมีช่างจากล้านนาโบราณที่เชี่ยวชาญมาช่วยในการหล่อ แต่ว่าทองแดงไม่พอจึงกลับไปเอาทองแดงอีกครั้ง เมื่อหล่อองค์พระพุทธรูปเสร็จปรากฏว่าทองแดงที่ใช้เป็นส่วนประกอบของพระพุทธรูปนั้นทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิ-เดชั่นเกิดเป็นสนิมสีดำเกาะทั่วพระพุทธรูป เมื่อขัดสนิมออกแล้วก็จะเห็นสีของทองแดงแต่เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก็กลับมาเป็นสีดำเช่นเดิม ชาวบ้านจึงเรียกพระพุทธรูปนี้ว่า หลวงพ่อองค์ดำ
          ต่อมาได้มีการนำไปประดิษฐานที่วัดนาขาม โดยมีพุทธลักษณะเป็น ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุทองสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตัก กว้าง 41 เซนติเมตร ฐานสูง 37 เซนติเมตร สูงจากฐานถึงยอดพระเมาลี 75 เซนติเมตร ที่ฐานมีจารึกอักษรลาวตัวธรรมสมัยหลวงพระบาง ความว่า 'สังกราช ราชาได้ฮ้อย ๗๒ ตัว ปีกด สะง้า เดือน ๒ ขึ้น ๑๕ ค่ำ วัน ๕ มื้อ ฮ่วงเหม่า นักขัตตะฤกษ์ อีกหน่อยซื่อว่า ปุสสยะ สังเฆ สะมะดี มีเจ้าครูนาขาม(กิว) เป็นเค้าเป็นเจ้าอธกศรัทธา ทายก อุปสก อุปาสิกา พ่ำพร้อม น้อมนำมายังตัมพะโลหาเป็นเอกศรัทธา สร้าง พระพุทธรูปองค์นี้ไว้ให้ได้เป็นที่ไหว้และบูชาแก่คนและเทวดา ตาบต่อเท่า ๕๐๐๐ วัสสา นิพพาน ปัจจโย โหติ นิจจัง ธุวัง ธุวัง'
          ในสมัยพระยาชัยสุนทร(เก) องค์ที่ 11 ได้เดินทางไปตรวจราชการที่บ้านนาขาม แล้วได้พบเห็นหลวงพ่อองค์ดำที่วัดนาขาม เป็นพระที่มีลักษณะงดงาม จึงมีความต้องการที่จะนำไปประดิษฐานไว้ที่โฮงผู้ว่าฯ (จวนผู้ว่าฯ) เพื่อเป็นการเสริมบารมีแต่ชาวบ้านในละแวกนั้นไม่ต้องการให้นำหลวงพ่อองค์ดำไปจากหมู่บ้าน เพราะชาวบ้านมีความเคารพนับถือและเลื่อมใสศรัทธาในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อองค์ดำ พระยาชัยสุนทร(เก)จึงได้นำช้าง 5 เชือก มาสร้างอำนาจในการขมขู่ ทำให้ชาวบ้านยอมถวายหลวงพ่อองค์ดำแก่พระยาชัยสุนทร(เก)ด้วยความไม่เต็มใจ เมื่อนำหลวงพ่อองค์ดำไปประดิษฐานที่โฮงผู้ว่าฯก็เกิดเหตุอาเพศ ได้แก่ พ่อตาเสียชีวิตด้วยโรคแปลกประหลาด เกิดการทะเลาะกันระหว่างนางสนมของพระองค์ ไฟไหม้โฮง แม่ยายเสียชีวิต และพระองค์ตกหลังช้างจนได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น ทำให้หลวงพ่อองค์ดำประดิษฐานที่โฮงผู้ว่าฯ ได้เพียง 1 ปีเศษ ต่อมาพระยาชัยสุนทร(เก)จึงได้นำไปถวายวัดกลางพระอารามหลวง ซึ่งในขณะนั้นญาคูอ้มเป็นเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ แต่ได้ไปจำพรรษาที่วัดเหนือและต่อมาได้จำพรรษาที่วัดกลาง จนถึงสมัยของพระครูสุขุมวาทวรคุณ(สุข สุขโณ) ท่านได้นำหลวงพ่อองค์ดำไว้ที่กุฎิเพื่อป้องกันการสูญหาย แต่ทว่าด้วยชื่อเสียงเรียงนามของหลวงพ่อองค์ดำทำให้ชาวบ้านอยากมาสักการะบูชา หลวงปู่สุขจึงได้นำหลวงพ่อองค์ดำไปแห่รอบๆเมืองเพื่อขอฝน และเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวเมืองกาฬสินธุ์ ทันใดนั้นก็เกิดอภินิหารฝนตกลงมา ทำให้ชาวบ้านเรียกหลวงพ่อองค์ดำอีกนามหนึ่งว่าหลวงพ่อชุ่มเย็น 
          จากนั้นก็มีปาฏิหาริย์ต่างๆเกิดขึ้นอีก ยกตัวอย่างเช่น คนที่แต่งงานแล้วไม่มีลูกก็มาขอลูกกับหลวงพ่อองค์ดำก็จะสมหวังและยังมีชาวต่างชาติอย่างมาเลเซียและสวีเดนมากราบไหว้สักการะกันอีกด้วย เมื่อเกิดภัยแล้งชาวบ้านจะนำเอาหลวงพ่อองค์ดำมาแห่เพื่อขอฝน เมื่อนำหลวงพ่อองค์ดำพ้นเขตวัดก็เกิดท้องฟ้ามืดครึ้มและฝนตก เมื่อนำไปแห่ครั้งไหนก็เกิดฝนตก จึงเป็นประเพณีวันสงกรานต์ที่จะนำหลวงพ่อองค์ดำมาแห่ เวลาที่พระเทพปัญญาเมธี(ปราชญ์ อกฺกโชโต) เจ้าอาวาสวัดกลางพระอารามหลวง เดินทางไปที่ใดก็จะนำเหรียญหลวงพ่อองค์ดำใส่ย่ามไปด้วยไม่ว่าจะไปงานบวชหรืองานต่างๆก็จะเกิดสภาพอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน เมื่อมีการพุทธาภิเษกสิ่งของมงคลทางวัดจะนำหลวงพ่อองค์ดำไปเป็นองค์พระประธานและจะเกิดฝนตกทุกครั้ง และอภินิหารล่าสุดที่เกิดกับพระเทพปัญญาเมธีในขณะที่ท่านกำลังเดินทางไปจังหวัดสกลนคร ได้เกิดอุบัติเหตุรถยนต์พลิกคว่ำสภาพรถพังยับเยินจนผู้ที่พบเห็นคิดว่าท่านได้มรณภาพแล้ว แต่กลับรอดมาได้และบาดเจ็บเพียงนิดหน่อยเท่านั้นนับเป็นปาฏิหาริย์ที่หลวงพ่อองค์ดำได้ช่วยชีวิตของเจ้าอาวาสและผู้ร่วมเดินทางไว้ 
          ในสมัยที่พระครูสุขุมวาทวรคุณ (สุข สุขโณ) เป็นเจ้าอาวาส กรมศิลปากรอยากนำหลวงพ่อองค์ดำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจึงมาสร้างกำแพงโบสถ์แต่หลวงปู่สุขไม่ยินยอม เพราะหลวงพ่อองค์ดำเป็นพระของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์จะยกให้ใครไม่ได้ และเมื่อถึงประเพณีสงกรานต์ ก็จะได้มีการอัญเชิญหลวงพ่อองค์ดำมาแห่รอบเมืองเพื่อขอความชุ่มเย็น แต่หลวงปู่สุขท่านกลัวว่าหากเอาองค์จริงมาแห่อาจจะทำให้ไม่ปลอดภัยและอาจโดนขโมยได้ ท่านจึงหล่อองค์จำลองขึ้นมาแห่แทนในปี พ.ศ.2537, 2539, 2544 แต่เวลาทำพิธีพุทธาภิเษกก็ต้องเอาสายสิญจน์โยงไปที่หลวงพ่อองค์ดำองค์จริง เมื่อนานเข้าชาวบ้านเริ่มรู้แล้วว่าองค์ที่เอามาแห่ไม่ใช่องค์จริงแต่เป็นองค์จำลอง หลวงปู่สุขจึงสร้างกุฏิขึ้นมาเพื่อประดิษฐานองค์จริงไว้ข้างในเพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้และได้ตั้งชื่อหลวงพ่อองค์ดำอีกชื่อว่า พระพุทธสัมฤทธิ์นิโรคันตราย
          ในสมัยที่ท่านสุวิทย์ สุบงกฎเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ท่านสุวิทย์ได้ทำการสถาปนาให้หลวงพ่อองค์ดำเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกาฬสินธุ์อย่างเป็นทางการ โดยเพิ่มคำขวัญจังหวัดกาฬสินธุ์เข้าไปหนึ่งวรรคคือ “หลวงพ่อองค์ดำลือเลื่อง” เหตุที่เพิ่มเข้ามาเพราะอยากให้เมืองกาฬสินธุ์เป็นเมืองพุทธ